พันธกิจ (Mission)

      งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มงานภายใต้สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ/ สหกิจศึกษา ข้อมูลอาจารย์นิเทศสหกิจศึกษา ข้อมูลสถานประกอบการ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารการฝึกอบรม การสมัคงาน รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร และบุคคลทั่วไป ติดต่อประสานงานกับคณะภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สหกิจศึกษา เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินงานต่อไป และการบริการอื่น ๆ ดังนี้

  1. ประสานงาน/ดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวนการระบบสหกิจศึกษา
  2. บริการข้อมูลสารสนเทศ เกี่ยวกับจำนวนนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สหกิจศึกษา
  3. บริการข้อมูลอาจารย์นิเทศที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรคณาจารย์นิเทศสหกิจศึกษา
  4. บริการข้อมูลรายชื่อสถานประกอบการที่ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เพื่อรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์ และสหกิจศึกษา
  5. บริการข้อมูลข่าวการฝึกอบรมหลักสูตรคณาจารย์นิเทศสหกิจศึกษา
  6. ศูนย์กลางประสานงานสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
  7. เชื่อมโยงข้อมูลหลักสูตร CWIE, WiL และสมาคมสหกิจศึกษาไทย
  8. บริการข้อมูลข่าวการรับสมัครงาน
  9. บริการงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สหกิจศึกษา (Co-operative Education)

     สหกิจศึกษา (Co-operative Education) คือ การศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในหน่วยงาน ซึ่งเรียกว่า สถานประกอบการหรือองค์กรผู้ใช้บัณฑิต อย่างเป็นระบบก่อนสำเร็จการศึกษา

     การจัดการศึกษาระบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษากับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต โดยเป็นระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต (Work Based Learning) รวมถึงการบูรณาการในการจัดการศึกษากับการทำงาน (Work Integrated Learning) เพื่อช่วยให้บัณฑิตสามารถเรียนรู้ชีวิตการทำงานก่อนสำเร็จการศึกษาและพัฒนาทักษะสัมพันธ์กับวิชาชีพที่เป็นความต้องการขององค์กรผู้ใช้บัณฑิต รวมถึง เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้นิสิตนักศึกษาสามารถเชื่อมโยงและประยุกต์ความรู้ทางทฤษฎีสู่การปฏิบัติงานจริง เป็นเวลา 16 สัปดาห์ หรือ 1 ภาคเรียน (ประมาณ 3-4 เดือน)

วัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา
       1. ด้านการพัฒนาอาชีพ (Career Development) และเสริมทักษะ (Up Skill) เป็นการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาให้มีประสบการณ์และมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่ตลาดแรงงานต้องการตามวิชาชีพสามารถเข้าสู่ระบบการทำงาน และประกอบอาชีพได้
       2. เพิ่มเติมประสบการณ์ทางด้านวิชาการ ด้านวิชาชีพ และการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษาในรูปแบบที่มีคุณค่าสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีประโยชน์ต่อองค์กรเหนือกว่าการฝึกงาน
       3. เปิดโอกาสให้สถานประกอบการทั้งภาคเอกชน และภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
       4. เกิดการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ทันสมัยได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น
       5. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานประกอบการ และสถาบันอุดมศึกษาผ่านนักศึกษาสหกิจศึกษาและคณาจารย์นิเทศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการอย่างกว้างขวางมากขึ้น

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

      การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการหรือหน่วยงาน เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีลักษณะงานตรงตามสาขาวิชาชีพที่เลือกเรียน นักศึกษาจะได้นำความรู้ภาคทฤษฎีมาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน และพัฒนาความรู้ ความสามารถในภาคปฏิบัติควบคู่กันไปในแวดล้อมการปฏิบัติงานที่เป็นจริง ทำให้ได้รับประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง กระบวนในการฝึกประสบการณ์ดังกล่าวมีความจำเป็นและสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยฝึกฝนให้นักศึกษามีทักษะในการทำงาน สามารถแก้ปัญหา มีความมั่นใจ และปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาพฤติกรรมของนักศึกษาทุกด้านทั้งบุคลิกภาพ สติปัญญา เจตคติ ที่ถูกต้องเหมาะสม พร้อมที่จะออกไปดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดมุ่งหมายของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

    1. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ ในลักษณะงานของสถานประกอบการหรือหน่วยงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับสาขาวิชาชีพของตน
    2. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ในสาขาวิชาชีพของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
    3. เพื่อให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้เกิดผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ
    4. เพื่อให้นักศึกษาสามารถแก้ปัญหา และพัฒนางานของตนเองให้ดียิ่งขึ้นได้
    5. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถที่จะประกอบอาชีพ หรือสร้างงานให้กับตนเองได้
    6. เพื่อให้นักศึกษาเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และสถานประกอบการ
    7. เพื่อให้นักศึกษามีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย
    8. เพื่อให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่องานตามสาขาวิชาชีพของตน